วิชฏาลัมพก์ เหล่าวานิช
เมื่อวาน วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ผมได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลงศพ ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ ศิลปินแห่งชาติ หรือครูเติม ที่เป็นครูอันเป็นที่รักยิ่งของผม วันนี้ขออนุญาตนำข้อข้อความที่ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลงศพ มาบันทึกเก็บไว้ในนี้เพื่อเป็นความทรงจำหน่อยนะครับ และผมได้เพิ่มเติม LINK ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อกับบทความมาไว้ในนี้เลย เพื่อได้หาหรือสืบค้นกันได้ง่ายขึ้นครับ
การได้มาเป็นนิสิตสาขาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้ และรู้จักครูบาอาจารย์ทางด้านดนตรีไทยหลายท่าน และแน่นอนว่าครูเติม เป็นครูที่ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดมากที่สุดท่านหนึ่ง เนื่องจากท่านเป็นครูสอนทักษะเครื่องมือเอกซอด้วงของผม ปกติผมเรียนกับครูตามตารางสอน คือ ทุกวันศุกร์ 8.00 – 10.00 น. แต่ในความเป็นจริงแล้วครูจะเดินทางด้วยรถเมล์และมาถึงลานไทรที่ภาควิชาดนนตรีศึกษา ประมาณ 6.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมได้มีโอกาสรับประทานอาหารเช้า และพูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับครู โดยปกติแล้วผมเป็นคนคุยไม่เก่ง หรือเรียกว่าแทบไม่พูดเลยดีกว่า โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุแต่สำหรับครูเติมแล้ว ท่านคุยเก่งมาก มีเรื่องราวมาเล่าทุกสัปดาห์ ทำให้ผมนอกจากจะฝึกสีซอแล้ว ยังได้มีโอกาสฝึกพูดกับผู้ใหญ่ด้วย โดยเฉพาะวันไหนที่ผมไม่ได้ซ้อมมาผมก็ต้องหาเรื่องมาชวนคุยเพื่อจะได้กลบเกลื่อนความขี้เกียจของตัวเอง
ก่อนที่ผมจะได้รู้จักและมาเรียนครับครูผมค่อนข้างจะกลัวครูมาก เพราะท่านเป็นครูผู้ใหญ่ แต่เมื่อได้เรียนแล้วทำให้ทราบว่า ครูเป็นครูที่เปิดกว้างมากๆแทบไม่เคยบังคับเลยว่าต้องสีซอให้เหมือนกับครู โดยเฉพาะช่วงที่ผมเรียนกับครู ลูกศิษย์ของครูก็จะมีความหลากหลาย แต่ละคนจะบันทึกโน้ตแบบไหน หรือ อัดเสียงไปฝึกซ้อมที่บ้านอย่างไรก็ได้ สีทางที่ไม่ต้องเหมือนครู ใช้นิ้วไม่เหมือนครูได้ (ครูจะเหลือบตามองนึดนึง) แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรทุกครั้งที่ผมเรียนกับครู ผมจะพยายามจดโน้ตตาม และอัดเทปไปด้วย (ช่วงนั้นใช้เทปคลาสเซ็ต) เพื่อทบทวน แต่น่าเสียดายมากที่ โน้ตที่ผมจดและเทปที่บันทึกไว้นั้น ได้ถูกน้ำท่วม เสียหายไปหมดเมื่อ ปี 2554
หลังจากที่ผมเรียนกับครูเติมได้ประมาณ 1 ปี ครูเติมได้รับการยกยองให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อ ปี 2541 ผมจำได้ว่าผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ได้แจ้งข่าวที่น่ายินดีนั้นกับครู ภาพที่ครูอมยิ้มนิดๆ แล้วบอกว่า “ขอบใจจ่ะป่าน” ยังเป็นภาพที่ติดตา และผมยังจำได้อยู่ถึงทุกวันนี้ อย่างน้อยๆ ผมก็ได้มีส่วนรับรู้ถึงความสุขของครูในวันนั้น
หลังจากครูได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นเป็นศิลปินแห่งชาติ อาจารย์หลายท่านและนิสิตของภาควิชาดนตรีศึกษาขณะนั้น จึงคิดว่าเราควรทำอะไรให้ครูสักหน่อย และสิ่งทำได้รวดเร็วที่สุดก็น่าจะเป็นการบันทึกเสียงเพลงเดี่ยวต่างๆ ที่ครูยังบรรเลงได้อย่างแม่นยำอยู่ ก่อนที่เวลาจะนำพาให้ทุกอย่างเลือนหายไป ด้วยเหตุนี้เองผมจึงได้รับคำแนะนำจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ แข็งขัน ในการดำเนินการของบประมาณจากคณะครุศาสตร์ เพื่อจัดโครงการเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ของนิสิต ภายใต้ชื่อโครงการ “สืบสานเพลงซอ” ซึ่งได้ดำเนินการกับเพื่อนในรุ่นเดียวกัน อีกสองคน คือ ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ และ ฐิติมา พึ่งสัตย์ โดยมีอาจารย์อานันท์ นาคคง เป็นที่ปรึกษาโครงการ
โครงการดังกล่าวเป็นที่มาของการบันทึกเสียงใน CD ซอทิพย์เสียงทอง ที่หลายๆ ท่านที่คงได้เคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว โดยเป็นการรบรวมบทเพลงที่ครูเติมเดี่ยวซอด้วงทั้งหมดที่ครูยังจำได้แม่นยำในขณะนั้น มาบันทึกเสียง และบันทึกเป็นโน้ตสากล ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นการบันทึกเสียงที่ค่อนข้างสมบูรณ์ชิ้นท้ายๆ ในชีวิตของครู
ในส่วนของบรรยายกาศช่วงบันทึกเสียงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2542 ได้รับความอนุเคราะห์ตจากห้องบันทึกเสียงแฮนด์แอคมี จรัญสนิทวงศ์ ของอาจารย์ชัยพร จิรจิตรโกศล ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านครูเติมมากนัก และ โชคดีมากที่พี่เอ้ อัษฎาวุธ สาคริก ได้ทำการบันทึก VDO เบื้องหลังการอันเสียงในวันนั้นไว้ด้วยโดยได้เผยแพร่บรรยากาศดังกล่าวไว้ในช่องยูทูปเอ้ระเหยลอยชาย
หลังจากที่ผมได้ดูแล้วผมก็ได้นึกย้อนในสมัยที่เป็นนิสิต เราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะเห็นครูสีซอทุกวันอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาในวงการดนตรี จึงพบว่า จริงๆ งานบันทึกเสียงวันนั้นใช้เวลาน้อยมากๆ กับการที่ต้องบรรเลงเดี่ยวทั้งหมด แบบรวดเดียวจบ ไม่มีการหยุดพัก หรือ ตัดแบ่งเป็นช่วงๆ ดังเช่นในปัจจุบัน เป็นงานที่ยากมาก คือสีทั้งอัลบัมรวดเดียวเลย โดยใช้เวลาไม่กี่วัน หากให้ผมสีแบบครูตอนนี้ผมยังไม่สามารถทำได้เลย แสดงให้เห็นถึงทักษะที่ครูสั่งสมมาอย่างยาวนาน และสามารถถ่ายทอดหรือ แสดงออกมาเมื่อไหร่ ที่ไหน สถานการณ์ใดก็ได้
นอกจากผลงานที่เป็น CD แล้ว เมื่อไม่กี่วันที่ผานมาผมได้มีโอกาสไปค้นเอกสารของศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา คณะครุศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้พบเอกสารเล่มโครงการดังกล่าว ที่มีโน้ตสากลทั้งสี่เพลงที่บันทึกไว้ ทำให้สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการได้เป็นอย่างดี ผลงานชิ้นเล็กๆ ดังกล่าวน่าจะเป็นผลงานเพียงชิ้นเดียวที่ผมได้มีโอกาสทำให้ครู และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามรดกจากครูเติมจะเป็นสมบัติของวงการดนตรีไทย และจะเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของแผ่นดินเมื่อเวลาผ่านไป https://www.vitchatalum.com/projects-3
การจากไปของครูเติมทำให้ผมได้กลับมานั่งทบทวนและได้ข้อคิดหลายอย่าง สิ่งที่สำคัญคือ ตอนที่เรากำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่กับครู ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิชาที่ผมเรียน มันจะมาใช้เป็นรากฐานในการประกอบอาชีพหลัก ใช้เลี้ยงดูชีวิต และครอบครัวผมอยู่ในปัจจุบัน มันเป็นพื้นฐานที่ทำให้ผมเข้าใจในเรื่องอื่นๆ อีกนับหมื่น นับแสนเรื่องที่ผมสังสัย และที่สำคัญมันยังทำให้ผมมีความสุขอย่างมากเวลาได้นำความรู้เหล่านั้นมาเยียวยา และสร้างความสุขให้กับตัวเองและคนรอบข้าง ผมนึกไม่ออกเลยว่า ถ้าผมไม่ได้รับวิชาความรู้เหล่านั้นจากครู ในวันที่ผมไม่ได้สนใจเรียนเท่าไหร่นัก ชีวิตผมในวันนี้จะเป็นอย่างไร
เอกสารอ้างอิง
เอ้ระเหยลอยชาย (Producer). (2021). เอ้ระเหยลอยชาย EP.514 / พญาโศก 3 ชั้น
ซอด้วง :ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ, ขับร้อง :ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์.
Comments